3 ยากัญชาแผนไทย ที่ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถใช้รักษาอาการเจ็บป่วยได้

3 ยากัญชาแผนไทย ที่ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถใช้รักษาอาการเจ็บป่วยได้

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้มีสิทธิบัตรทอง สามารถเบิกยาแผนไทยที่มีส่วนผสมของกัญชาได้ 3 รายการ สำหรับให้ผู้ป่วยนำไปใช้เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แต่ต้องอยู่ภายใต้คำวินิจฉัยของแพทย์เท่านั้น เราจึงนำยาแผนไทยที่มีส่วนผสมของกัญชาทั้ง 3 รายการนี้มาให้ทุกคนได้รู้จัก และเข้าถึงสิทธิการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เปิด 3 รายชื่อยาแผนไทยผสมกัญชา พร้อมสรรพคุณที่รักษาอาการเจ็บป่วย

เปิด 3 รายชื่อยาแผนไทยผสมกัญชา พร้อมสรรพคุณที่รักษาอาการเจ็บป่วย

ตำรับยาแผนไทยที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ สปสช. ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองมีอยู่ 3 รายการด้วยกันคือ ตำรับยาทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น และตำรับยาศุขไสยาศน์ โดยตำรับยาไทยทั้งหมดนี้มีสรรพคุณสำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยดังต่อไปนี้

1. ตำรับยาทำลายพระสุเมรุ
ตำรับยานี้ได้รับการบันทึกไว้ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณโดย ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ ซึ่งตัวยามีทั้งรูปแบบผง และแบบแคปซูล มีสรรพคุณแก้ปวดและคลายกล้ามเนื้อที่เกิดจากโรคลม โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต อีกทั้งยังแก้โรคผิวหนัง ช่วยบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร และละลายเสมหะ โดยตำรับยานี้มีน้ำหนักรวม 1,338.75 กรัม ประกอบด้วยสมุนไพรถึง 23 ชนิด เช่น ดอกจันทน์, กานพลู, กระวาน, การบูร, ดีปลี, ว่านน้ำ, สมอไทย, เกลือสินเธาว์, พริกไทย และกัญชา เป็นต้น

2. ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น
ได้รับการบันทึกในตำรับยาเวชศาสตร์วัณ์ณณา มีทั้งรูปแบบผง และแบบแคปซูล มีสรรพคุณช่วยแก้โรคลม และโรคเส้น ช่วยให้มือเท้าที่ชาหรืออ่อนแรงมีอาการที่ดีขึ้น โดยตำรับยานี้มีน้ำหนัก 75 กรัม ประกอบไปด้วยสมุนไพร 7 ชนิด เช่น ข้าวเปลือก, ขิง, เจตมูลเพลิงแดง, พริกไทย, การบูร และใบกัญชา เป็นต้น

3. ตำรับยาศุขไสยาศน์
ตำรับยาแผนไทยที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ มีทั้งรูปแบบผง และแบบแคปซูล มีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร ช่วยให้นอนหลับได้สนิท และช่วยแก้โรคลมเปลี่ยวดำ โดยตำรับยานี้มีน้ำหนัก 78 กรัม ประกอบไปด้วยสมุนไพร 12 ชนิด เช่น การบูร, หัสคุณเทศ, เทียนดำ, โกฐกระดูก, ดอกบุนนาค, พริกไทย และใบกัญชา เป็นต้น

ข้อควรระวังในการใช้ยาแผนไทยผสมกัญชา

ข้อควรระวังในการใช้ยาแผนไทยผสมกัญชา

ตำรับยาแผนไทยที่มีส่วนผสมของกัญชา ทั้ง 3 รายการที่กล่าวมานี้เป็นตำรับยาที่มีฤทธิ์ร้อน จึงควรระวังในการใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อนร่วมด้วย และไม่ควรใช้ยาตำรับนี้ร่วมกับยา Phenytoin, Propranolol, Theophylline และ Rifampicin เพราะมีส่วนผสมของพริกไทยค่อนข้างสูง ส่วนผู้ป่วยโรคตับ โรคไต และโรคหัวใจ จะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และได้รับการจ่ายยาจากแพทย์เท่านั้น เพราะยาทั้ง 3 รายการนี้มีส่วนผสมของการบูรรวมอยู่

ถึงแม้จะเป็นสิทธิประโยชน์จาก สปสช. เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกสำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้มากขึ้น แต่ตำรับยาแผนไทยที่มีส่วนผสมของกัญชาที่กล่าวมานี้ยังคงห้าม ไม่ให้สตรีมีครรภ์-ให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีใช้ และผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองก็จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เท่านั้น เพราะมีสมุนไพรหลายชนิดที่ไม่เหมาะสมกับยาแผนปัจจุบันที่ใช้อยู่เป็นประจำ