กัญชาปลดล็อกแล้ว นำเข้าอย่างไรไม่เสี่ยงทำผิดกฎหมาย

กัญชาปลดล็อกแล้ว นำเข้าอย่างไรไม่เสี่ยงทำผิดกฎหมาย

วิธีการลงทะเบียนเพื่อแจ้งปลูกกัญชา มีอยู่ 2 วิธีง่าย ๆ ให้เลือก คือการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” (iOS, Android) ด้วยการกรอกรายละเอียดง่าย ๆ เพียงไม่กี่ข้อ กับการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ plookganja จึงจะสามารถปลูกพืชชนิดนี้ในครัวเรือนได้อย่างถูกกฎหมาย ส่วนผู้ที่ต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์ สารสกัด หรือต้นพันธุ์ ควรศึกษาข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความผิดพลาด ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลการนำเข้าที่ถูกต้องมาให้แล้วดังต่อไปนี้

4 ข้อต้องรู้ก่อน นำเข้าพืชกัญชาทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

4 ข้อต้องรู้ก่อน นำเข้าพืชกัญชาทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

มีข้อสงสัยเกี่ยวการนำเข้าพืชกัญชา สารสกัด และการพกพามากมายว่าสามารถนำเข้ามาสู่ประเทศไทยได้หรือไม่ และควรทำอย่างไรจึงถูกกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดปัญหา เราจึงรวบรวมคำถามพร้อมคำตอบที่ถูกต้องมาฝากให้แก่ผู้ที่ต้องการนำเข้าดังต่อไปนี้

1. เราสามารถนำเข้าสารสกัดจากทุกส่วนของพืชได้หรือไม่?
สำหรับผู้ที่ต้องการนำเข้าสารสกัดจากทุกส่วนของพืชชนิดนี้ จะต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีข้อย่อยลงไปอีกว่า ผู้ที่สามารถนำเข้าได้จะต้องนำเข้ามาเพื่อการศึกษาวิจัย และจะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ทำเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนเท่านั้น

2. การนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพืชกัญชาทุกส่วน ทำได้หรือไม่?
ข้อนี้จะแตกต่างจากข้อ 1 เพราะเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์อันมีส่วนผสมของพืชกัญชา การนำเข้าไม่ต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่จะต้องทราบวัตถุประสงค์ของผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาเพื่ออะไร และจะต้องระบุบนฉลากอย่างชัดเจน โดยสามารถแบ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้

  • ผลิตภัณฑ์อาหาร ห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2564 ฉบับที่ 424 หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี พร้อมปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท
  • ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ห้ามนำเข้าประเทศเช่นกัน ตามประกาศกระทรวงสารณสุข หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในข้อนี้จะแยกโทษออกมาตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ด้วย
  • ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ หากเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดที่ไม่เข้าข่ายอาหารและเครื่องสำอาง ให้ผู้นำเข้าปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายที่ควบคุมผลิตภัณฑ์ประเภทนั้น ๆ อยู่

3. หากต้องการนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา ควรทำอย่างไร?
สืบเนื่องมาจากข้อ 2 การนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชาไม่ว่าจะเป็นเปลือก กิ่ง ใบ ราก ยอด หรือช่อดอก จะต้องขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ให้เรียบร้อยก่อน โดยผู้นำเข้าจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนถึงวัตถุประสงค์ในการนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืชว่า เพื่อใช้ประโยชน์ด้านใด ซึ่งแน่นอนว่าหากต้องการนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นอาหารหรือเครื่องสำอางย่อมทำไม่ได้แน่นอน เพราะผิดต่อข้อกฎหมายที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ถ้าหากนำมาผลิตเป็นยาสมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ให้กระทำภายใต้ข้อกำหนดตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

4. หากเป็นการพกติดตัวเข้ามาในประเทศ สามารถทำได้หรือไม่?
การพกผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนของพืชกัญชาเข้ามาภายในประเทศ สามารถทำได้ภายใต้ข้อกำหนดที่ว่า ผู้ที่นำเข้ามาจะต้องเป็นบุคคลธรรมดา และผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนพืชที่นำเข้ามาจะถูกพิจารณาตามฉลากที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ หรือจากการสอบถามจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งถ้าหากเจ้าหน้าพบว่าผลิตภัณฑ์ หรือชิ้นส่วนพืชนั้น ๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นอาหารหรือเครื่องสำอาง จะถูกห้ามนำเข้าประเทศทันทีเพราะผิดต่อข้อกำหนดของกฎหมาย แม้ผู้นำเข้าจะเป็นบุคคลธรรมดาก็ตาม

ข้อห้ามนำเข้ากัญชา

จึงพอสรุปได้ว่าข้อห้ามนำเข้ากัญชาต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดขึ้นมานั้น เป็นไปเพื่อต้องการส่งเสริมภูมิปัญญาและการแพทย์แผนไทย จึงมีความจำเป็นต้องควบคุมการนำเข้า เพื่อให้กัญชาได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย ที่สามารถสร้างมูลค่าให้แก่ประเทศได้ ดังนั้นหากต้องการนำเข้าชิ้นส่วนของพืชหรือผลิตภัณฑ์ใด ผู้นำเข้าควรศึกษาข้อกำหนดของกฎหมายโดยละเอียด เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์