ตอบข้อสงสัย ปลดล็อกกัญชาใครใช้ประโยชน์ได้บ้าง

ตอบข้อสงสัย ปลดล็อกกัญชาใครใช้ประโยชน์ได้บ้าง

กฎหมายปลดล็อกกัญชาออกจากรายชื่อบัญชียาเสพติดมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งจากเดิมพืชชนิดนี้อยู่ในบัญชีรายชื่อยาเสพติดประเภทที่ 5 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ. 2522 การปลดล็อกครั้งนี้สร้างความสับสนให้แก่ประชาชนจำนวนมาก เพราะถึงแม้จะปลดล็อกจากบัญชีรายชื่อยาเสพติดแล้ว แต่ถ้าหากนำไปใช้และพบว่ามีสารสกัดค่า THC มากกว่า 0.2% ก็ยังคงถือว่าเป็นสารเสพติดอยู่ จึงเกิดคำถามและข้อสงสัยขึ้นในสังคมว่า ขอบเขตของการใช้พืชชนิดนี้มีอิสระมากแค่ไหน และการใช้ภายในครัวเรือนกับการใช้เพื่อการค้ามีความแตกต่างกันอย่างไร สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้

ความแตกต่างของการใช้กัญชา ระหว่างประชาชนทั่วไปกับผู้ประกอบการค้า

ความแตกต่างของการใช้กัญชา ระหว่างประชาชนทั่วไปกับผู้ประกอบการค้า

เราสามารถแบ่งกลุ่มผู้ใช้กัญชาออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ ประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการค้า โดยประชาชนทั่วไปที่หมายถึงบุคคลที่ไม่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับการค้าขายพืชสมุนไพรชนิดนี้เลย แต่มีปลูกเอาไว้ในครัวเรือน สำหรับใช้ประโยชน์ภายในครอบครัว กฎหมายให้อิสระสามารถทำได้ ทั้งการนำไปประกอบอาหาร นำไปใช้เพื่อการรักษาภายในครอบครัว หรือแม้แต่การสูบ โดยมีข้อกำหนดว่า “ห้ามสูบในที่สาธารณะ” และการสูบภายในครัวเรือนจะต้อง “ไม่ส่งกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้าน หรือผู้อื่น”

ส่วนผู้ประกอบการค้าที่เกี่ยวข้องกับพืชกัญชา ควรปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มาตรา 46 ซึ่งระบุว่าพืชสมุนไพรชนิดนี้ได้รับการควบคุม หากธุรกิจใดต้องการทำการค้า เช่น ทำการส่งออก, ทำการศึกษาวิจัย, ทำการซื้อขาย หรือทำการแปรรูปเพื่อจุดประสงค์ทางการค้า ควรจะได้รับการอนุญาตจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก่อน หรือสรุปได้ง่าย ๆ ว่าสามารถขายได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือขนม แต่ควรได้รับการอนุญาตก่อน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคนั่นเอง

เด็ก เยาวชน และกลุ่มอ่อนไหวสามารถใช้พืชกัญชาได้หรือไม่

เด็ก เยาวชน และกลุ่มอ่อนไหวสามารถใช้พืชกัญชาได้หรือไม่

มาถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนจะมีอิสระในการเข้าถึงพืชกัญชาขนาดไหน อ้างตามกระทรวงสาธารณะสุข ที่ได้ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี “ห้ามครอบครอง จำหน่าย หรือเคลื่อนย้ายพืชกัญชาเด็ดขาด” จึงหมายความว่าห้ามทุกกิจกรรมที่เกี่ยวกับพืชชนิดนี้หากอายุยังไม่ถึง 20 ปี และผู้ที่มีอายุมากกว่า 20 ปีก็ไม่ได้รับอนุญาตให้นำพืชชนิดนี้ให้แก่ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีใช้โดยเด็ดขาด

สำหรับกลุ่มสตรีมีครรภ์ แพทย์ไม่แนะนำให้ใช้พืชชนิดนี้ เนื่องจากมีโอกาสเสียงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก, ทารกมีน้ำหนักน้อย, คลอดก่อนกำหนด และพัฒนาการของสมองทารกไม่สมบูรณ์ ส่วนกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ ควรอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรนำพืชสมุนไพรนี้มาใช้เอง

จะสังเกตได้ว่าความสับสนและความเข้าใจที่เกิดขึ้นในสังคมต่อพืชกัญชามีอยู่มากมาย และขยายวงกว้างต่อเนื่อง เพราะการปลดล็อกนั้นเกิดขึ้นในขณะที่กฎหมายควบคุมยังกระจัดกระจายอยู่ตาม พ.ร.บ.ประเภทต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตหากมีการรวบรวมข้อกำหนดต่าง ๆ เป็นกฎหมายฉบับเดียวได้แล้ว ความชัดเจนจะเพิ่มความเข้าใจต่อประชาชนมากขึ้น การนำไปใช้ก็จะมีความถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด